บมจ. ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส (FSMART) โชว์ผลประกอบการไตรมาส 2/64 กำไร 112.94 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว และ 1.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน บอร์ดมีมติให้จ่ายปันผลระหว่างกาล 0.26 บาทต่อหุ้น เปิดแผนธุรกิจนำ Big data จับมือบิ๊กพาร์ทเนอร์ต่อยอดธุรกิจพร้อมออกบริการใหม่ตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่ม ดันธุรกิจการเงินและสินเชื่อโต 30% ลุยสินเชื่อเพื่อรายย่อยควบคู่ไปกับเพิ่มจุดบริการเคาท์เตอร์กว่า 1,800 จุด และ Mini ATM 10,000 จุด ดึงแชร์ตลาดถอนเงินที่มีปริมาณมากกว่า 180 ล้านรายการต่อเดือน ทั้งร่วมบริหารคาเฟ่อัตโนมัติเต่าบินผ่านบริษัทร่วมทุนที่บริษัทถือหุ้น 19.34% เป้าสิ้นปี 1,000 จุด และ 3 ปี 20,000 จุด ตั้งเป้ายอดขายมากกว่า 1 ล้านแก้วต่อเดือน
นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บมจ. ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส (FSMART) ผู้นำเครือข่ายช่องทางบริการอัตโนมัติและการเงินครบวงจร ใช้งานง่าย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ภายใต้ชื่อ “บุญเติม” เปิดเผยถึงผลประกอบการไตรมาส 2 /2564 ว่า บริษัทยังคงทำกำไรได้อย่างต่อเนื่องแม้อยู่ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 โดยมีรายได้รวม 773.69 ล้านบาท กำไรสุทธิ 112.94 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.29 % และ 8.71 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในอัตราหุ้นละ 0.26 บาท จากกำไรสุทธิของงวดดำเนินงานวันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) ในวันที่ 23 สิงหาคม 2564 และกำหนดจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 8 กันยายน 2564
“จากยอดเติมเงิน E-Wallet เติบโตสูงขึ้น 58.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว และยอดรายการโอนเงินกว่า 1.9 ล้านรายการต่อเดือน เพิ่มขึ้น 16.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว คิดเป็นมูลค่าโอนเงิน 3,384 ล้านบาทมูลค่าเติบโตต่อเนื่อง สะท้อนว่าตู้บุญเติมเป็นที่ต้องการของลูกค้า เนื่องจากลูกค้าเข้าถึงได้สะดวก ใช้งานง่าย บริการตลอด 24 ชั่วโมง และมีบริการหลากหลาย สำหรับคาเฟ่อัตโนมัติ "เต่าบิน" ที่ปัจจุบันมีจุดบริการกว่า 70 จุด และมียอดขายมากกว่า 52,000 บาทต่อจุดต่อเดือน จะเร่งจุดบริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวโน้มธุรกิจช่วงครึ่งหลัง ปี 2564 ว่า บริษัทมุ่งมั่นพัฒนาบุญเติมให้เป็นธนาคารชุมชนที่สะดวกเข้าถึงง่าย มีบริการครบครัน ฝาก-โอน-ถอน และเปิดบัญชี พร้อมบริการอื่น ๆ ผ่านตู้บุญเติมที่มากกว่า 130,000 ล้านตู้ทั่วประเทศ ตอบโจทย์ลูกค้าในช่วงโควิด-19 สะท้อนความเป็นผู้นำช่องทางให้บริการอัตโนมัติการเงินครบวงจร โดยปีนี้ บริษัทตั้งเป้าการเติบโตของยอดใช้บริการรวม 1-5% ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ในส่วนธุรกิจการเติมเงิน-รับชำระเงินอัตโนมัติ บริษัทเน้นให้บริการที่ตอบโจทย์พฤติกรรมของลูกค้าที่หันมาใช้บริการผ่านช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการซื้อของออนไลน์ทำให้ดันยอดบริการ E-wallet มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งบริษัทจะเพิ่มบริการชำระเงินอื่นๆ เช่นกรมธรรม์ พ.ร.บ. และสาธารธูปโภคต่างๆ และจับมือกับพันธมิตรรายใหญ่เพิ่มช่องทางการชำระเงินผ่านเคาท์เตอร์ที่เข้าถึงและสะดวกสบาย รองรับการชำระบิลทั่วประเทศ คาดดันยอดใช้บริการพุ่งพร้อมขยายฐานลูกค้าใหม่
ขณะที่กลุ่มธุรกิจทางการเงินและสินเชื่อครบวงจร บุญเติมเป็นตัวแทนธนาคารที่ให้บริการอย่างครบวงจร ทั้งการฝาก โอน ถอน และการยืนยันตัวตนเพื่อเปิดบัญชีธนาคารและสินเชื่อ ซึ่งทำให้ตู้บุญเติญเป็นธนาคารชุมชนอย่างแท้จริงที่มีลูกค้าทั้งคนไทยและคนต่างชาติมาใช้บริการ คาดจำนวนธุรกรรมทางการเงินเติบโต 30 % จากการเป็นตัวแทนธนาคารเพิ่มอีก 1 แห่ง ไตรมาสนี้ และบริการถอนเงินสดผ่านตู้ Mini ATM บุญเติม ที่สามารถถอนเงินสดขั้นต่ำ 20 บาท ตั้งเป้าผลักดันให้มีจุดบริการ 200 แห่ง และขยายเป็น 10,000 แห่งทั่วประเทศต่อไป โดยคาดหวังว่าจะสามารถดึงมาร์เก็ตแชร์ในตลาดนี้ได้ จากภาพรวมของตลาดมีปริมาณการถอนเงินมากกว่า 180 ล้านรายการต่อเดือน ทั้งนำ Big Data จากฐานข้อมูลลูกค้ามากกว่า 20 ล้านหมายเลข และกว่า 1.4 ล้านรายการต่อวัน และมีจำนวนบริการมากกว่า 80 รายการ ทำให้บริษัทมีข้อมูลเชิงลึก และเข้าใจถึงพฤติกรรม นำมาวิเคราะห์ พัฒนาร่วมกับพันธมิตรใหม่ในการขยายธุรกิจและการให้บริการใหม่ ๆ ในธุรกิจสินเชื่อ ซึ่งจะเพิ่มฐานลูกค้าใหม่สู่กลุ่มลูกค้าบุญเติมที่มีประวัติดีจากฐานข้อมูล และจะผลักดันสินเชื่อทุกรูปแบบไปยังกลุ่มรายย่อยอื่น ๆ ในอนาคต
สุดท้ายกลุ่มธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและกระจายสินค้า เน้นการขยายการให้บริการของ “ตู้เต่าบิน” คาเฟ่อัตโนมัติ ที่ให้บริการเครื่องดื่มร้อนและเย็นมากกว่า 100 เมนู และให้บริการในจุดที่ผู้คนเข้าถึงได้ง่าย โดยตั้งเป้าขยายตู้เต่าบินให้ได้ 20,000 ตู้ภายใน 3 ปี และมียอดขาย 1 ล้านแก้วต่อวัน สร้างยอดขายต่อปีมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยจะพัฒนาสูตรเครื่องดื่มใหม่ ๆ อย่างเครื่องดื่มที่ผสมกัญชงหรือเครื่องดื่มน้ำขิงที่เริ่มจำหน่ายแล้ว ในส่วนของเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charger) ภายใต้แบรนด์ EV NET ที่มาพร้อมด้วยระบบการจัดการและชำระเงินผ่าน Application “Be-Charger” โดยที่เน้นจุดให้บริการในทำเลแบบพื้นที่ปิดที่จอดรถเป็นเวลานาน ซึ่งบริษัทสามารถตั้งราคาขายเครื่องที่สามารถแข่งขันกับตลาดได้ เนื่องจากต้นทุนต่ำ พร้อมบริการหลังการขายและระบบจัดการที่แข็งแกร่ง ด้วยข้อได้เปรียบและจุดขายที่โดดเด่น จะทำให้บริษัทสามารถขยายฐานลูกค้าได้อย่างมาก